เป้าหมายความสำเร็จของโครงการ

  1. เป้าหมายการดำเนินงาน

    ปัจจุบัน ธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้ได้แล้วจำนวน 5,621 ชุมชน มีเป้าหมายสะสมจะจัดตั้งธนาคารต้นไม้เพิ่มจำนวนเป็น 6,800 ชุมชน ปีบัญชี 2558 มีเป้าหมายสะสมจะจัดตั้งธนาคารต้นไม้เพิ่มเป็นจำนวน 6.800 ชุมชน ปลูกต้นไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2 ล้านต้นต่อปี เพื่อดพเนินการในชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษญกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส.
  2. เป้าหมายทางเศรษฐกิจ

    1. พัฒนาการทำการเกษตรตามรูปแบบที่ใกล้เคียงป่าธรรมชาติ ช่วยให้เกษตรกรได้รับผลผลิตที่หลากหลายจากผืนดิน มีอาหาร มียา มีไม้สร้างบ้านเรือน มีพืชพลังงาน มีส่วนเกินขายเป็นรายได้ประจำวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี รายได้เมื่อเกิดฉุกเฉินและมีต้นไม้เป็นบำนาญชีวิตเมื่อถึงวัยชรา ช่วยให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
    2. เกษตรกรสามารถนำรายได้ดังกล่าวไปปลดเปลื้องหนี้สินที่มีอยู่กับสถาบันการเงินทั้งในระบบและนอกระบบ
    3. สร้างฐานทรัพยากรในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติในระยะยาว เป็นทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร (เพื่อสุขภาพ) ยา (สมุนไพร) พลังงาน (จากพืช) และการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติจากป่าไม้
  3. เป้าหมายทางสังคม

    1. ดำรงวิถีการพึ่งพาทางธรรมชาติตามชาติพันธุ์ไทย
    2. สร้างเครือข่ายคนในแต่ละชุมชนตามภูมิสังคมจากภูผาสู่มหานที
    3. สร้างงานในชุมชน ทั้งเด็ก ผู้หญิง คนพิการ จากการดำเนินงานของธนาคารต้นไม้ตั้งแต่กระบวนการผลิต แปรรูป และตลาด (ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ) แก้ไขปัญหาการว่างงาน
    4. สร้างชุมชนให้เข้มแข็งโดยใช้ต้นไม้เป็นเครื่องมือ เป็นทรัพย์ เป็นหลักทรัพย์ เป็นหลักประกัน สร้างภูมิคุ้มกันให้คนและชุมชน สามารถรักษาที่ดินทำกิน ป้องกันการขายที่ดิน ไม่เคลื่อนย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมือง แย่งชิงทรัพยากรสังคมเมืองหรือจากชุมชนสู่ป่า บุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นทรัพยากรอันมีค่าของส่วนรวม
  4. เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม

    1. สร้างความหลากหลายทางชีวภาพบนที่ดินทำกินและการฟื้นฟูตามสมดุลของระบบนิเวศในชุมชนท้องถิ่น
    2. เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้อันเป็นฐานทรัพยากรสำคัญของการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของชาติในระยะยาว
    3. ลดปัญหาภาวะโลกร้อน ภัยแล้ง และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ