ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเกษตร ภาคธุรกิจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ทั้งในด้านการทำงานและการดำเนินชีวิต ซึ่งหากประยุกต์ใช้อย่างถูกต้อง มีความตั้งใจและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ย่อมจะประสบความสำเร็จ สร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับชีวิต ครอบครัว ชุมชน และองค์กร ตลอดจนสร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง

นายผล มีศรี เกษตรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คือหนึ่งในผู้ที่ประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพจนประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ประเภทประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและกันดาร ในการประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 2 ที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นผู้จัด

นายผล เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะเริ่มทำการเกษตรผสมผสาน เคยประกอบอาชีพมาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรับจ้างขับรถสองแถว ขับรถรับ-ส่งนักเรียน ขายประกันชีวิต จนช่วงปี 2540 มีเหตุพลิกผันให้ชีวิตต้องไปขายแรงงานเป็นกรรมกรอยู่ที่ประเทศไต้หวัน ผ่านไปประมาณ 2 ปี พอมีเงินเก็บ 3-4 แสนบาท จึงได้ตัดสินใจกลับเมืองไทย โดยได้เข้ามาเป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. ตอนนั้นกู้เงินประมาณ 1 แสนบาท เมื่อนำมารวมกับเงินเก็บที่มีอยู่ ได้ประมาณ 5 แสนบาท จึงเริ่มทำการเกษตรแบบผสมผสานบนที่ดิน 87 ไร่ โดยจำได้ดีว่าวันที่ 16 ธันวาคม 2542 เป็นวันที่เริ่มทำการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการตั้งปณิธานและให้สัญญากับตัวเองว่าจะทำตามแนวทางที่พระองค์ท่านให้ไว้จนสำเร็จให้ได้ "ผมแบ่งที่ดินออกเป็น 4 ส่วน ตามคำสอนของในหลวง คือ ส่วนที่ 1 ปลูกพืชยืนต้น 30% ส่วนที่ 2 เลี้ยงสัตว์ 30% ส่วนที่ 3 ทำนา 30% และส่วนที่ 4 คือ ที่อยู่อาศัย อีก 10% ซึ่งพืชยืนต้นที่ปลูก มีทั้งมะม่วง ลำไย เงาะ มะพร้าวน้ำหอม และยางพารา โดยเฉพาะยางพาราตอนนี้ปลูกไว้ประมาณ 7,442 ต้น สามารถกรีดยางขายได้แล้ว ประมาณ 1,000 ต้น ในส่วนของการเลี้ยงสัตว์ มีกระบือ 6 ตัว สุกร 83 ตัว ไก่ 400 ตัว เป็ดเทศ 40 ตัว ห่าน 3 ตัว บ่อปลา 3 บ่อ มีปลาประมาณ 10,000 ตัวและเลี้ยงกบอีก 1,000 ตัว โดยพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรจะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี มีการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยการปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาหน้าดิน และลดต้นทุนทางการเกษตรด้วยการพึ่งพาตนเอง เช่น ผลิตปุ๋ยใช้เองจากมูลสัตว์ พัฒนาสายพันธุ์สัตว์เลี้ยงด้วยตนเอง เช่น ผสมพันธ์ระหว่างหมูป่ากับหมูบ้าน เป็นต้น โดยมีสมาชิกในครอบครัวได้แก่ ภรรยา ลูกชาย และลูกสะใภ้ แบ่งหน้าที่ช่วยกันทำงาน และสิ่งขาดไม่ได้คือ การทำบัญชีครัวเรือนที่ทำให้เราสามารถรับรู้รายรับ รายจ่าย และใช้จ่ายได้อย่างถูกต้อง" นายผลกล่าว

ปัจจุบันบ้านของนายผล เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ นายผล มีศรี ที่มีหน่วยงานและผู้ที่สนใจเดินทางมาศึกษาดูงานเฉลี่ยปีละกว่า 1 พันคนเป็นประจำทุกปี เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่ถ่ายทอดให้ความรู้ที่เกี่ยวกับการทำการเกษตรให้กับเกษตรกรและชุมชนต่างๆที่สนใจทั้งในจังหวัดพะเยาและจังหวัดอื่นๆ ทั้งในเรื่องการทำการเกษตรแบบผสมผสาน การอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยการปลูกหญ้าแฝก และหนุนเสริมให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ได้ นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต โดยนายผลจะย้ำถึงคติของความสำเร็จของตนให้ผู้อื่นฟังเสมอว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างทำไม่ยาก แต่มันยากตรงที่เราไม่ทำ แต่ถ้าเราทำอย่างตั้งใจ เราขยัน เราซื่อสัตย์ เราประหยัด เราอดทน แล้วทุกอย่างจะสำเร็จ"

สนใจศึกษาดูงาน ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ นายผล มีศรี ติดต่อได้ที่ บ้านเลขที่ 130 ม.6 ต.ภูซาง อ.เมือง จ.พะเยา เบอร์โทรศัพท์ 087-174-9928 วิสัยทัศน์ ธ.ก.ส. "เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่มั่นคง มีการจัดการที่ทันสมัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อย"


23 พฤษภาคม 2555

Copy to clipboard

กลับสู่ด้านบน