ในช่วง 1 - 2 ปี ที่ผ่านมาหลาย ๆ คน คงเริ่มจะได้ยินคำว่า BIBOR อยู่บ่อยครั้ง และคงจะสงสัยว่าคำนี้มาจากไหน มีความหมายว่าอย่างไร และนำไปใช้ทำอะไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับคำคำนี้ให้มากขึ้น โดย BIBOR หรือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการอ้างอิงเพื่อการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารที่ได้มาจากการเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยการปล่อยกู้ระหว่างธนาคารพาณิชย์แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งมีระยะเวลาในการกู้ยืมไม่เกิน 1 ปี โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหน้าที่กำกับดูแล และคำนวณค่ากลางของอัตราดอกเบี้ยจากข้อมูลที่สถาบันการเงินในประเทศไทยที่เป็น BIBOR Contributor1 จำนวน 17 แห่ง ส่งมาให้ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็เป็นหนึ่งในสมาชิก BIBOR Contributor


ธปท. มีเป้าหมายในการพัฒนาอัตราดอกเบี้ย BIBOR เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตามหลักมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ย LIBOR ของประเทศอังกฤษ และ อัตราดอกเบี้ย SIBOR ของประเทศสิงคโปร์ โดยการกำหนดอัตราดอกเบี้ย BIBOR มีลักษณะเหมือนกับอัตราดอกเบี้ย LIBOR และ SIBOR ที่สะท้อนให้เห็นถึง การคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ มุมมองต่อความเสี่ยงในการกู้ยืมระหว่างธนาคาร ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงสภาพคล่องที่แท้จริงของเงินบาทในประเทศ


ปัจจุบัน ธปท. พยายามผลักดันให้มีการนำอัตราดอกเบี้ย BIBOR มาใช้ในการอ้างอิงกับการทำธุรกรรมทางการเงินให้มากขึ้นแทนการใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอื่น ๆ โดยขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่เป็น BIBOR Contributor ผ่านการทำธุรกรรมการกู้ยืมระยะสั้นทั้งในรูปแบบ Interbank และ Private Repo โดยใช้อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย BIBOR ที่ ธปท. ประกาศในแต่ละวัน และมีการมอบรางวัลเพื่อเป็นการตอบแทนสถาบันการเงินที่ให้ความร่วมมือในฐานะที่เป็น BIBOR Contributor ในการพัฒนาและผลักดันการใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง BIBOR โดยพิจารณาผลงานจากการทำธุรกรรมการกู้ยืมระหว่างธนาคารในตลาดเงิน การให้สินเชื่อแก่ภาครัฐและภาคเอกชน การซื้อขายพันธบัตรอัตราดอกเบี้ยลอยตัว2 และการทำธุรกรรมอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย ในปริมาณที่สูงสุด


นอกจากการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงินดังกล่าวแล้ว ธปท. ยังพยายามที่จะนำอัตราดอกเบี้ย BIBOR มาใช้เป็นการทั่วไปเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้แก่ประชาชน โดยการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. อายุ 3 ปี อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 3 เดือน ที่ออกขายในปี 2554 ซึ่งเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว รวมทั้งพยายามที่จะให้สถาบันการเงินขยายฐานลูกค้าที่เป็น BIBOR Loans เพิ่มมากขึ้น แทนการใช้อัตราดอกเบี้ย MLR และสนับสนุนการใช้อัตราดอกเบี้ย BIBOR กับผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ อาทิ ตั๋วแลกเงิน (B/E)


ทั้งนี้ ข้อดีของการนำอัตราดอกเบี้ย BIBOR มาใช้อ้างอิงในการทำธุรกรรมทางการเงิน คือ การเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารที่เป็นเงินบาท ทำให้มีแนวโน้มขึ้นอยู่กับแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยและปริมาณสภาพคล่องของเงินในประเทศเป็นหลัก ซึ่งต่างจากอัตราดอกเบี้ย THBFIX3 ซึ่งเดิมใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอ้างอิงในธุรกรรมการเงิน ที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก ปริมาณสภาพคล่องของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้มีความผันผวน ไม่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในประเทศเกิดการบิดเบือนได้ง่ายเนื่องจากไม่มีหน่วยงานของทางการควบคุม อีกทั้งสูตรในการคำนวณ มีตัวแปรบางตัวที่ไม่ใช่ราคาตลาด


ในฐานะที่ ธ.ก.ส. เป็นหนึ่งในสมาชิก BIBOR Contributor ซึ่งมีบทบาทในการร่วมพัฒนาอัตราดอกเบี้ย BIBOR ให้เป็นที่รู้จัก และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายตามเป้าหมายของ ธปท. นอกจากการนำมาใช้อ้างอิงในการทำธุรกรรมผ่านตลาดเงินจากการให้กู้ยืมเงินระยะสั้นระหว่างสถาบันการเงินแล้ว ธนาคารควรที่จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝาก เงินให้สินเชื่อ ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย BIBOR เพิ่มขึ้น โดยอาจจะเริ่มต้นจากการนำมาใช้กับลูกค้ารายใหญ่ของธนาคาร และเมื่อเริ่มเป็นที่นิยมในระยะถัดไปอาจขยายผลิตภัณฑ์ไปยังลูกค้ารายย่อยมากขึ้น



1 BIBOR Contributor คือ สถาบันการเงินที่ทำหน้าที่ส่งข้อมูลอัตราดอกเบี้ยที่จะใช้ในการคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในธุรกรรมการกู้ยืมเงินระยะสั้นแบบมีระยะเวลาในตลาดเงิน

2 THBFIX เป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ใช้ออ้างอิงในการกู้ยืม ซึ่งสะท้อนถึงต้นทุนการกู้ยืมเงินในต่างประเทศที่ได้รวมต้นทุนของการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนจากการทำธุรกรรม Swap เอาไว้แล้ว ตัวอย่างเช่น กรณีที่สถาบันการเงินไทยต้องการเงินทุนเพื่อนำมาให้สินเชื่อกับนักลงทุนไทย โดยการกู้ยืมเงินดอลลาห์สหรัฐในประเทศสิงคโปร์ ด้วยอัตราดอกเบี้ย SIBOR แล้วนำกลับมาแลกเป็นสกุลเงินบาทในตลาดปัจจุบัน (Spot) และเมื่อถึงวันครบกำหนดการกู้เงิน สถาบันการเงินดังกล่าวต้องชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น เพื่อให้ธุรกรรมการกู้ยืมปราศจากความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จึงต้องซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้า ( Forward) ณ วันที่กู้เงิน โดยเรียกธุรกรรมดังกล่าวว่า Currency Swap หรือ FX Swap

3 พันธบัตรออมทรัพย์ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว คือ พันธบัตรที่อัตราผลตอบแทนปรับเปลี่ยนตามอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงหนึ่งๆ ในกรณีพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว อัตราผลตอบแทนแปรผันตามดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 3 เดือน ผู้ลงทุนในพันธบัตรดังกล่าวจะได้รับดอกเบี้ยๆ 3 เดือน โดยดอกเบี้ยในแต่ละงวดที่ได้รับแตกต่างกันไปขึ้นกับอัตราดอกเบี้ย BIBOR ระยะ 3 เดือน ณ วันที่กำหนดอัตราผลตอบแทนสำหรับงวดถัดไปเป็นเท่าใด โดย ธปท. จะประกาศอัตราดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ในช่วง 2 วันทำการก่อนวันเริ่มคำนวณดอกเบี้ยงวด 3 เดือนข้างหน้า


Copy to clipboard

กลับสู่ด้านบน