ประวัติความเป็นมา

       หลายสิบปีที่ผ่านมาการฌาปนกิจสงเคราะห์ได้แพร่หลายในชนบทไทย ซึ่งมีปริมาณและขนาดของกลุ่มขยายตัวเพิ่มในแต่ละชุมชนของหมู่บ้าน และส่วนงานราชการ ถือได้ว่าเป็นกลุ่มประกันภัย รายย่อยที่ได้รับความนิยมแพร่หลายที่สุดในขณะนั้น เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการรวบรวมเงินของสมาชิกเข้าเป็นกองทุนกลางเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของสมาชิก เดิมทีนั้นรูปแบบสมาชิกภาพของสมาคมฯเป็นไปในเชิงบังคับทุกคนในหมู่บ้านที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิก และต้องชำระค่าฌาปนกิจสงเคราะห์ตามจำนวนที่กำหนด เมื่อมีสมาชิกรายหนึ่งรายใดในหมู่บ้านเสียชีวิตลงต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2517 งานฌาปนกิจสงเคราะห์ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในส่วนราชการ องค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และกลุ่มประชนทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือค่าจัดการศพ และสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกที่ถึงแก่ความตาย

            ธ.ก.ส.ได้นำแนวทางการฌาปนกิจสงเคราะห์ ตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาใช้สนับสนุนให้เกษตรกรลูกค้าร่วมกันจัดตั้งสมาคมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสวัสดิการทางสังคม สมาชิกได้มีโอกาสช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวสมาชิกที่เสียชีวิต โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนให้มีการริเริ่มจัดตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2518 เป็นต้นมา ดังนี้

 

ระยะที่ 1 เริ่มก่อเกิดสมาคมฯ (พ.ศ.2518 –พ.ศ.2520)

โดยนำร่องจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจลูกค้า ธ.ก.ส.น่านเป็นแห่งแรกได้จดทะเบียนดำเนินการ จัดตั้งตามที่กฎหมายกำหนดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2518 เพื่อรับสมาชิกที่เป็นเกษตรกรลูกค้าผู้กู้ของ ธ.ก.ส. ในสังกัดจังหวัดน่านมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ครอบครัวของสมาชิกให้ได้รับเงินเพื่อใช้ในการจัดการศพและมีเหลือสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ปรากฏว่าผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จด้วยดี ในปี พ.ศ.2518-2520มีการจัดตั้งสมาคมฯในจังหวัดน่านเพิ่มอีก 2 สมาคมฯได้แก่ สมาคมฯอำเภอเวียงสาและอำเภอท่าวังผาโดยมีลูกค้าให้ความสนใจและเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

 

ระยะที่ 2 ขยายผลสมาคมฯ ลูกค้าผู้กู้ ธ.ก.ส.(พ.ศ.2521 –พ.ศ.2555)

จากผลสำเร็จการจัดตั้งสมาคมฯในระยะที่1 ธ.ก.ส. จึงได้สนับสนุนให้มีการขยายผลการจัดตั้งทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้พนักงาน ธ.ก.ส.เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำพร้อมสอบทานการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 มีจำนวนไม่น้อยกว่า 449 สมาคม

 

ระยะที่ 3 เริ่มก่อเกิดสมาคมฯลูกค้าผู้ฝาก ธ.ก.ส.(พ.ศ.2531 –พ.ศ.2555)

เนื่องจากการฌาปนกิจสงเคราะห์ผู้กู้ ธ.ก.ส.ที่มีอยู่ทั่วประเทศเป็นที่นิยมรู้จักแพร่หลายทำให้ลูกค้าเงินฝากของ ธ.ก.ส.ที่เป็นประชาชนทั่วไปให้ความสนใจประสงค์เข้าร่วมเป็นสมาชิก ธ.ก.ส จึงได้ช่วยเหลือให้มีการจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ลูกค้าฯ เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการขยายฐานเงินฝากรายย่อยของธนาคาร ซึ่งมีการริเริ่มจัดตั้งเป็นสมาคมแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2531 และต่อมามีการขยายผลการจัดตั้งครอบคลุมทุกจังหวัดอย่างน้อยจังหวัดละ 1 สมาคม ณ 31 ธันวาคม 2559 มีจำนวนไม่น้อยกว่า 92 สมาคม

 

ระยะที่ 4 ยุคสร้างความยั่งยืนระยะยาว (พ.ศ.2556 – ถึงปัจจุบัน)

จากสภาพปัญหาเศรษฐกิจและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในปัจจุบัน ทำให้สมาคมฯหลายแห่ง แนวโน้มมีจำนวนสมาชิกลดลง อัตราการเสียชีวิต การพ้นสภาพสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้น ทำให้ทายาทได้รับเงินสงเคราะห์น้อยลง ธ.ก.ส. จึงมุ่งเน้นให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ทั้งระบบให้มีความโปร่งใส สมาชิกเกิดความเชื่อมั่นทำให้สมาคมมีความมั่นคงยั่งยืน โดยมีแนวทางการจัดการปัญหา ตามสภาพที่แท้จริงและเป็นไปโดยสมัครใจของแต่ละสมาคม ดังนี้

แนวทางที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพภายในโดยสมาคมเป็นหลัก ทั้งด้านการขยายฐานสมาชิก ให้ครอบคลุมบุคคลในครัวเรือน การบริหารการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ค้างชำระ การรับชำระเงินจากสมาชิกผ่านบัญชีเงินฝาก หรือ Teller Payment การเพิ่มรายได้หรือลดค่าใช้จ่าย การวางระเบียบค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับฐานะการเงิน การเพิ่มขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

แนวทางที่ 2 การควบรวมกับสมาคมอื่นที่มีผลประกอบการดี และมีความมั่นคง กรณีประสบปัญหามีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายต่อเนื่องกัน จนมีผลกระทบทำให้ทุนสะสมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ