ตราธนาคารในอดีต (พ.ศ. ๒๕๐๙ - ๒๕๒๘)
เมื่อเริ่มก่อตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คณะกรรมการ ธ.ก.ส. มีมติเมื่อการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๐๙ วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๐๙ กำหนดตราของธนาคารเป็นรูปวงกลม ระหว่างขอบวงนอกและขอบวงในมีชื่อ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ตอนล่างมีอักษรย่อชื่อของธนาคาร ธ.ก.ส. ภายในขอบวงในมีรูปถุงเงินและรวงข้าว ซึ่งหมายถึง การให้เงินกู้เพื่อการผลิตทางเกษตรและการออมเงิน
ตราธนาคารปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๘ - ปัจจุบัน)
เปลี่ยนแปลงเมื่อคณะกรรมการ ธ.ก.ส. มีมติเมื่อการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๒๘ วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๒๘ กำหนดตราของธนาคารใหม่ เพื่อให้มีความโดดเด่น สวยงาม และง่ายต่อการจดจำเป็น โดยมีความหมาย ดังนี้

กรอบรูปสี่เหลี่ยมมุมมน หมายถึง ความต่อเนื่อง การสื่อสัมพันธ์อันดี การบริการ ความเข้าใจ ความร่วมมือ การประสานประโยชน์ ความผูกพัน ความไม่มีที่สิ้นสุด ระหว่าง รัฐบาล ธ.ก.ส. และ เกษตรกรลูกค้า ซึ่งจะผูกสัมพันธ์เป็นวัฏจักรต่อเนื่องตลอดไป เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จะขาดจากกันไม่ได้

ธ.ก.ส. สีขาว หมายถึง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภทสถาบันการเงิน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการตามนโยบายพิเศษของรัฐ มีการบริหารจัดการด้วยความโปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาล

รวงข้าวสีทอง หมายถึง อาชีพหรือการดำเนินงานของเกษตรกร คือการเกษตรและอาชีพที่มีลักษณะต่อเนื่องจากอาชีพการเกษตร ความอุดมสมบูรณ์ของภาคเกษตรกรรม สัญลักษณ์แทนเกษตรกรลูกค้า ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของธนาคาร

พื้นสีน้ำเงิน หมายถึง สีของกระทรวงการคลัง ซึ่ง ธ.ก.ส. เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง


Copy to clipboard

กลับสู่ด้านบน