ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ตระหนักถึงการบริหารความเสี่ยงอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการประกอบธุรกิจ โดยนำหลักการ บริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในตามมาตรฐานสากล ได้แก่ The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission - Enterprise Risk Management (COSO-ERM) ISO 31000:2018 แนวทางกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ หลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง มากำหนดเป็นกรอบการบริหารความเสี่ยงครอบคลุมความเสี่ยงทุกด้าน และประยุกต์ใช้กับการบริหารความเสี่ยงในทุกระดับขององค์กร เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด สร้างมูลค่าเพิ่มแก่องค์กร และเสริมสร้างการจัดการให้เกิดเป็นธรรมาภิบาล ในองค์กรอย่างยั่งยืน

1. ยุทธศาสตร์การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน

เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในของธนาคาร สอดคล้อง เชื่อมโยง และสนับสนุนให้วิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ และนโยบายสำคัญตามแผนธุรกิจของ ธ.ก.ส. บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน ดังนี้

(1) เสริมสร้างวัฒนธรรมด้านความเสี่ยงการควบคุมภายในและการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ที่เข้มแข็ง

(2) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายในโดยใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัล

(3) บริหารปัจจัยเสี่ยงองค์กรให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

2. นโยบายการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน

การดำเนินธุรกิจของ ธ.ก.ส. ปัจจุบันต้องเผชิญกับความผันผวน ทั้งจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน ทำให้ ธ.ก.ส. ต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับงานบริหารความเสี่ยง เพื่อช่วยสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่ม มั่นใจได้ว่าการดำเนินงานสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ รวมทั้งช่วยยกระดับการเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง และมีธรรมาภิบาล จึงกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในของ ธ.ก.ส. ดังนี้

(1) ใช้แนวทางการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในตามมาตรฐานสากล และเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากความเสี่ยงในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ ตามหลักการ Three Lines of Defense

(2) นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน

(3) ส่งเสริมให้การบริหารความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงานจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร เสริมสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการควบคุมภายใน เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงานตามปกติ

(4) พัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ เพื่อลดความเสี่ยงองค์กร รวมทั้งกำหนดการควบคุมเป็นบทบาทความรับผิดชอบของผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ กำกับ ควบคุม ติดตาม สื่อสาร และซักซ้อมตามภารกิจของธนาคาร

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้กำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญทั้ง 6 ด้านของธนาคาร ได้แก่

(1) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk)

(2) ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk)

(3) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk)

(4) ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk)

(5) ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational Risk)

(6) ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Risk)

อีกทั้ง ธ.ก.ส. ได้กำหนดนโยบายการควบคุมภายใน โดยมุ่งเน้นให้มีกลไกการถ่วงดุล และดูแลให้มีการควบคุม กำกับ และตรวจสอบ (Three Lines of Defense) ที่มีประสิทธิผล จัดให้มีกระบวนการ ประเมินความเพียงพอ ทบทวน กำกับ ควบคุม ติดตาม และสื่อสารระบบการควบคุมภายใน เพื่อเสริมสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการควบคุมภายใน แก่พนักงานทุกระดับ

3. โครงสร้างและระบบการบริหารความเสี่ยง

เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในของธนาคารเป็นไปตามหลักการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร ตามมาตรฐานสากล กรอบแนวทางการกำกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2561 และมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ธ.ก.ส. จึงได้นำหลักการ (Principles) กรอบแนวทาง (Framework) และกระบวนการ (Process) มาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนวิสาหกิจ ธ.ก.ส. ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยกำหนดโครงสร้างการบริหารความเสี่ยง ดังแผนภาพ

4. เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง

ธ.ก.ส. จัดระบบและใช้เครื่องมือในการประเมินความเสี่ยงและจัดการความเสี่ยง อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการพัฒนาเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง อาทิ

  • ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารความเสี่ยงตามมาตรฐาน ISO 31000 : 2018
  • ระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management System: BCMS)
  • ระบบเตือนภัยล่วงหน้า (BAAC Early Warning System: EWS)
  • ระบบบริหารสินเชื่อรายย่อย (Retail Loan Management System)
  • ระบบบริหารสินเชื่อรายใหญ่ (Corporate Loan Management System)
  • ระบบรายงานการติดตามคุณภาพสินเชื่อ
  • ระบบรายงานความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
  • ระบบการจัดทำการประเมินความเสี่ยงและการควบคุมด้วยตนเอง (Risk and Control Self-Assessment : RCSA)
  • ระบบบันทึกความเสียหายด้านปฏิบัติการ (Loss Data)
  • ระบบดัชนีชี้วัดความเสี่ยงหลัก (Key Risk Indicator : KRI)

กลับสู่ด้านบน