ผลิตภัณฑ์ประจำท้องถิ่น ที่เกิดจากภูมิปัญญา และสรรค์สร้างด้วยความประณีตย่อมยากแก่การลอกเลียนแบบ เช่นเดียวกับกลุ่มบ้านไหมลายปัก อ.ปัว จ.น่าน ที่ร่วมกันนำผ้าไหมลายปักอันมีรูปแบบและลวดลายสวยงาม ตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิด นางชนาภา แสนนิทา ประธานกลุ่มบ้านไหมลายปัก เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มฯ เริ่มจากตนเองเปิดร้านรับตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี และขายอุปกรณ์การปักผ้า เช่น ผ้า ด้าย เข็ม ต่อมาผลิตภัณฑ์ที่เป็นผ้าปักมือได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจึงหันมาปักผ้าขายและขยายกิจการเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด เมื่อเห็นว่าตลาดมีความต้องการมากขึ้นทุกปี ประกอบกับชาวบ้านในชุมชนมีความสามารถในการปักผ้าไหมเป็นจำนวนมากจึงได้ชักชวนมารวมกลุ่มสร้างงานสร้างรายได้ สำหรับการปักผ้ามี 3 ประเภท คือ 1.การปักหน้าเดียว เป็นการปักให้ดูสวยงามเฉพาะด้านหน้า ด้านหลังจะห่างมีเส้นไหมยุ่ง ๆ มักใช้กับลวดลายที่แคบ ๆ มีช่วงไหมสั้น เช่น หน้าหมอน 2. การปักสองหน้า คือ การปักให้เหมือนกันทั้งสองด้าน ใช้ปักผ้าเช็ดหน้า ผ้าห่ม ผ้าม่าน และ 3.การปักแรเงา เป็นการปักเหลือบสีแรเงาให้ดูเหมือนจริง เช่น รูปดอกไม้ ใบไม้ นิยมกันมากเพราะเป็นการปักที่ดูสวยกว่าการปักสองหน้า หรือหน้าเดียว ซึ่งเป็นแบบธรรมดา ลักษณะการปักมี 2 ลักษณะ คือการปักอย่างหยาบ เป็นการปักด้วยไหมเส้นใหญ่บนเนื้อผ้าหยาบลายขนาดใหญ่ เช่น การปักไขว้หรือการปักสอดไหม จะช่วยเพิ่มความหนาของเนื้อผ้าขึ้นได้ เหมาะสำหรับปักผ้าที่ใช้เป็นประเภทตกแต่งเครื่องเรือน เครื่องใช้ต่าง ๆ และการปักอย่างละเอียด เป็นการปักด้วยไหมเส้นเล็กบนเนื้อผ้าบาง ลายขนาดธรรมดาหรือค่อนข้างเล็ก เหมาะสำหรับตกแต่งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย สำหรับช่องทางการจำหน่ายกำลังจะขยายตลาดออกไปยังจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น และอุบลราชธานี รวมทั้งร่วมออกร้านในงานมหกรรมต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ส่วนตลาดในพื้นที่ก็ทำการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อวิทยุท้องถิ่น ปัญหาของกลุ่มฯ ขณะนี้คือ ขาดเงินทุนหมุนเวียน วิธีการแก้ปัญหาคือขอรับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาปัว จ.น่าน

อ้างอิงจาก : www.pandintong.com


15 กุมภาพันธ์ 2553

Copy to clipboard

กลับสู่ด้านบน