ความผันผวนด้านราคาที่เริ่มตกต่ำลงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้หลายกิจการต้องดิ้นรนปรับปรุงสินค้าเพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกับ กลุ่มปลาดุกร้าบ้านท่าเตียน

โดยการนำของ ลุงช่วง ชูเมือง ในวัย 60 ปีเศษ แห่ง ต.แหลม อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ที่ยกระดับปลาดุกจากที่ส่งขายสดตามท้องตลาดสู่การแปรรูปด้วยวิธีถนอมอาหารที่มีสูตรอร่อยเฉพาะตัว ส่งให้ผลิตภัณฑ์ปลาดุกร้าของกลุ่มไม่เฉพาะขายดีในภาคใต้ แต่ยังส่งขายไปทั่วทุกภาค

ลุงช่วงย้อนอดีตให้ฟังถึงที่มาของการตั้งกลุ่มว่า เริ่มขึ้นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องเพราะขณะนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพเลี้ยงปลาดุกส่งขายตามตลาดสดหลายครอบครัว ช่วงแรกขายได้ราคาดี แต่ต่อมาราคาลดลง มีปัญหาเรื่องตลาด ตนในฐานะผู้เลี้ยงปลาดุกและประสบปัญหาดังกล่าว จึงรวมกลุ่มผู้ร่วมชะตากรรมจัดตั้งเป็นกลุ่มปลาดุกร้าบ้านท่าเตียน เริ่มแรกมีสมาชิก 15 คน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานจาก อบต.แหลม เป็นเงินจำนวน 1 แสนบาท

ผลิตภัณฑ์ปลาดุกร้าของกลุ่ม ลุงช่วงยอมรับว่าแรกๆ รสชาติยังไม่เข้าที่ ต่อเมื่อภายหลังได้ปรับปรุง กระทั่งเป็นสูตรเฉพาะต้นตำรับความอร่อยจึงเป็นที่รู้จักของลูกค้ามากขึ้นและกลายเป็นสินค้าที่ผลิตออกจำหน่าย ซึ่งไม่เฉพาะส่งขายในนครศรีธรรมราชเท่านั้น แต่ยังส่งขายข้ามจังหวัดทั่วภาคใต้ จนผลิตไม่ทันตามความต้องการของผู้บริโภค

พร้อมกันนี้ ลุงช่วงได้เผยถึงเทคนิคการผลิตปลาดุกร้าให้อร่อยว่า เมื่อได้ปลาดุกมาแล้ว ก็นำมาตัดหัวออก จากนั้นนำไปคลุกกับเกลือที่ผสมน้ำตาลในสัดส่วนที่เหมาะสมตามตำรับดั้งเดิม หมักไว้ในกะละมัง 3 วัน จึงนำออกตากแดด 3 แดด โดยจะตากจนแห้งและเมื่อแห้งสนิทจึงนำไปแพ็กเตรียมจำหน่ายต่อไป ที่สำคัญต้องดูแลเรื่องแมลงวันไม่ให้ไปวางไข่ เพราะหากไม่ระวังปลาดุกร้าอาจมีหนอนขึ้นได้

"การปรุงนั้นไม่ยาก เพียงแต่นำไปทอดในกระทะที่น้ำมันไม่ร้อนมากนัก ทอดแบบใจเย็นๆ ไม่นานก็จะสุก ก็จะได้ปลาร้าที่กลิ่นหอมกรุ่น นุ่มอร่อย กินกับข้าวสวย แก้มผักน้ำพริก อร่อยลงตัวทีเดียว" ลุงช่วงกล่าว

ปัจจุบันกลุ่มปลาดุกร้าท่าเตียนของลุงช่วงได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพห้าดาว “Y Y Y Y Y” จากกรมพัฒนาชุมชน พร้อมยึดหลักการผลิตและจำหน่ายตามความต้องการของตลาด โดยกลุ่มจะผลิตสินค้าสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 500 กิโลกรัม รวมแต่ละเดือนจะใช้ปลาดุกผลิต 2,000 กิโลกรัม และจะได้ปลาดุกร้า 600 กิโลกรัม จำหน่ายหมดใน 1 เดือน ไม่มีปัญหาตกค้างหรือเหลือการจำหน่ายจนสร้างภาระขาดทุนให้แก่กลุ่ม ขณะที่ในส่วนของหัวปลา ซึ่งเป็นเศษเหลือจากการทำปลาดุกร้า กลุ่มก็ไม่ได้ทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ จะนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ สำหรับใช้กับพืชต่างๆ ต่อไป

"ตอนนี้เราส่งตามออเดอร์ที่มีมาจากทั่วประเทศด้วย แต่ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องสั่งไม่ต่ำกว่า 10 กิโลกรัม เราถึงจะจัดส่งให้" ลุงช่วงแจงพร้อมเสริมว่า กออเดอร์ต้องจ่ายเงินก่อนด้วย ส่วนสนนราคานั้นประธานกลุ่มการันตีว่ายุติธรรม ที่สำคัญคุ้มค่ากับความอร่อย หากสนใจสินค้าหรือข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่โทร.08-6942-9905, 08-5782-2730

บทบาทของลุงช่วง นอกจากเป็นผู้ประชาสัมพันธ์ปลาดุกร้าของกลุ่มให้เป็นที่รู้จักของตลาด ด้วยการนำสินค้าออกร้านจำหน่ายในงานต่างๆ ที่จัดโดยภาครัฐ เอกชน ซึ่งผลการดำเนินงานสามารถแก้ปัญหาเรื่องตลาดผลิตภัณฑ์ปลาดุกร้าของกลุ่ม แถมสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกได้เป็นกอบเป็นกำแล้ว ยังเป็นการเปิดตลาดรองรับปลาดุกสดจากนอกพื้นที่ด้วย เนื่องจากปัจจุบันปลาดุกในพื้นที่ไม่เพียงพอที่จำนำมาผลิตปลาดุกร้าของกลุ่มได้

"ธานี กุลแพทย์"

- วันพุธที่ 14 กรกฎาคม 2553 หนังสือพิมพ์คมชัดลึก-


15 กรกฏาคม 2553

Copy to clipboard

กลับสู่ด้านบน