วิเชฐ ตันติวานิช ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ใหม่(MAI) หนึ่งในปรมาจารย์ด้านดัชนีชี้วัดความสำเร็จ หรือ KPI (Key Performance Indicator) ของเมืองไทย

ไปบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ก้าวทันสถานการณ์ ยืนหยัดและยั่งยืน” ให้กับผู้บริหาร ธ.ก.ส.ตั้งแต่ระดับผู้จัดการสาขาขึ้นไปจากทั่วประเทศกว่า 1,200 คน ที่เข้ามาร่วมประชุมประจำปีเพื่อขับเคลื่อนภารกิจสู่ความสำเร็จ ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีบัญชี 2553 (1 เมษายน 2553 – 31 มีนาคม 2554)

ท่านวิเชฐฉายภาพสไลด์ที่แสดงถึงอัตราการเจริญเติบโตของ ธ.ก.ส. ตลอดระยะเวลา 44 ปีที่ผ่านมา เช่น ด้านสินเชื่อ ซึ่งเริ่มจาก 159 ล้านบาทในปี 2509 กลายเป็น 700,000 ล้านบาทในปัจจุบัน ด้านเงินฝากจากจุดเริ่มต้นที่ต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐ มาเป็นการระดมเงินฝากจากประชาชนทั่วไปจนมียอดเงินฝากเพิ่มขึ้นกว่า 650,000 ล้านบาทรวมถึงการดำเนินงานสนองนโยบายสำคัญ ๆ ของรัฐบาลมามากมายหลายโครงการ ความสำเร็จดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ...แต่ท่านวิเชฐบอกในฐานะบอร์ด ธ.ก.ส. ว่า..ยังไม่ปลื้มใจ เพราะเมื่อมองจากสายตาของคนภายนอก ยังมีคำถามว่า...เมื่อธ.ก.ส.โต..แล้วเกษตรกรกว่า 6.2 ล้านครัวเรือนที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.เติบโตขึ้นตาม ธ.ก.ส.ด้วยหรือไม่?

ในทุก ๆ ปี ธ.ก.ส. กำหนด KPI ของตนเอง มีการวางยุทธศาสตร์ วางแผนงานเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายชัดเจน ดังนั้นถ้า KPI ของ ธ.ก.ส.คือการสร้างโอกาสที่เป็นไปได้ให้กับเกษตรกร แล้ว ธ.ก.ส.รู้หรือไม่ว่า KPI ของเกษตรกรคืออะไร? คน ธ.ก.ส.ฟังแล้วอึ้ง!! แม้จะเข้าใจถึงความหมาย แต่เป็นเรื่องที่ตอบยาก

ท่านวิเชฐตอบแทนว่า KPI ของเกษตรกรคืออยู่ดี กินดี มีความสุข ซึ่งมีเกษตรกรบางส่วนสามารถทำตาม KPI ที่วางไว้ได้ แต่มีอีกจำนวนมาก..กที่ก้าวไปไม่ถึงจุดนั้น แม้จะพยายามอย่างเต็มที่แล้ว ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่ ธ.ก.ส. จะปรับ KPI ของ ธ.ก.ส. ให้เป็นตัวเดียวกันกับ KPI ของเกษตรกร เพราะถ้าทำได้ ธ.ก.ส.จะเข้าไปอยู่ในหัวใจของชาวบ้าน และเติบโตอย่างยั่งยืนไม่ใช่แค่ 50 - 60 ปี แต่เป็น 100 ปี นับจากนี้

ลักษณ์ วจนานวัช ในฐานะซีอีโอ ธ.ก.ส.น้อมรับและถือว่าเป็นคำแนะนำที่ทรงคุณค่า ด้วยที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้วางนโยบายอย่างชัดเจนคือ “ ธ.ก.ส.ให้มากกว่าสินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบท” โดยมีการดำเนินงานอื่น ๆ ควบคู่กับการให้บริการทางการเงินอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น การน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงานทุกด้านของ ธ.ก.ส. การสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกร การสร้างชุมชนเข้มแข็ง การจัดอบรมหลักสูตรสัจธรรมชีวิต เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้ถึงการลดค่าใช้จ่ายในการผลิต ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ การยกย่องเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านวิถีทำกิน วิถีการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ ในรูปของโครงการเกษตรกรคนเก่ง เพื่อนช่วยเพื่อน ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งสิ่งที่ทำยังคงสานต่อและมีนโยบายเพิ่มอีกหลายด้าน เช่น การสนับสนุนให้มีชุมชนต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียงทุกจังหวัด โครงการธนาคารต้นไม้ ทุนเกษตรในโรงเรียน เป็นต้น ..คำแนะนำที่ได้รับทำให้ ธ.ก.ส.มั่นใจยิ่งขึ้นว่า เราเดินมาถูกทาง แต่สิ่งที่ต้องพยายามต่อไปคือทำ KPI ของ ธ.ก.ส. ให้ตรงกับ KPI ของเกษตรกรให้มากที่สุด แม้จะมีเงื่อนไขและปัจจัยอื่นอีกมากมายที่ ธ.ก.ส. กำหนดเองไม่ได้ก็ตาม

•พรพรหม จักรกริชรัตน์•

 


13 ตุลาคม 2553

Copy to clipboard

กลับสู่ด้านบน