แม้ฝนจะโปรยปรายมาให้ชื่นใจและคลายความวิตกกังวลไปได้ในระดับหนึ่ง

แต่ภาวะฝนทิ้งช่วงหรือภัยแล้งในปีนี้ก็สร้างความเสียหายต่อผลิตผลหลักของประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะข้าวนาปรังที่เหี่ยวแห้งตายในหลายพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่เขตพื้นที่ชลประทาน เพราะน้ำจากเขื่อนแห้งขอดสุดวิสัยที่จะนำมาผันใช้ในภาคการเกษตร รวมไปถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังและอ้อย ก็เจอปัญหาไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

แต่ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. บอกว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สมาคมประกันวินาศภัย ภายใต้การสนับสนุนด้านวิชาการจากธนาคารโลก ได้จัดทำระบบประกันภัยพืชผลโดยใช้ดัชนีภูมิอากาศหรือใช้ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่มาเป็นตัวชี้วัด โดยนำร่องในพื้นที่ที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตั้งแต่ปี 2548 หลังจากชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและมีการทดลองรับประกันภัยจริง ๆ โดยไม่เก็บค่าเบี้ยประกัน อยู่ถึง 2 ปีเต็ม ๆ จึงเริ่มโครงการเต็มรูปแบบในปี 2550 โดยมีเกษตรกรในพื้นที่นำร่องสมัครใจเข้าร่วมโครงการ 36 ราย พื้นที่ที่ทำประกันจำนวน 962 ไร่ ปีแรกนี้ไม่มีการจ่ายค่าสินไหมเพราะฝนตกดีตลอดทั้งปี

ปี 2551 ธ.ก.ส. ขยายพื้นที่รับประกันภัยไปยัง 5 จังหวัดคือ เพชรบูรณ์ ลพบุรี นครสวรรค์ นครราชสีมาและสระบุรี มีเกษตรกรที่เริ่มเข้าใจถึงระบบการป้องกันความเสี่ยงเข้าร่วมโครงการ 388 ราย พื้นที่ประกันภัย 7,238 ไร่ ซึ่งปีนี้บางพื้นที่เจอปัญหาภัยแล้งจึงมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปบางส่วน ในปี 2552 ขยายเป็น 7 จังหวัด โดยเพิ่มจังหวัดน่านกับพิษณุโลกมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 817 ราย พื้นที่ประกันภัย 13,454 ไร่ เกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยไปประมาณ 250,000 บาท แต่ได้รับเบี้ยประกันหรือสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่รวมแล้วกว่า 810,000 บาท และล่าสุดปี 53 มีเกษตรกรแห่เข้าร่วมโครงการเพิ่มเป็น 2,535 ราย พื้นที่ประกันภัย 45,918ไร่ เสียค่าเบี้ยประกันภัยไปประมาณ 4.5 ล้านบาท ปรากฏว่ายังไม่ทันหมดฤดูการเพาะปลูก บริษัทต้องจ่ายค่าประกันความเสียหายเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดพิษณุโลกไปแล้วกว่า 4.3 ล้านบาท ซึ่งปรากฏการณ์ที่ว่าเริ่มสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในเรื่องการทำประกันภัยพืชผลมากยิ่งขึ้น

ถ้าโครงการประกันรายได้ ซึ่งใช้ฐานคำนวณมาจากต้นทุนการผลิต + ค่าขนส่ง + กำไรสุทธิ 25% คือสูตรการันตีว่าสินค้าที่เกษตรกรผลิตต้องมีราคาไม่ต่ำกว่านี้ และถือเป็นการคุ้มครองเรื่องรายได้หรือผลตอบแทนจากการประกอบอาชีพแก่เกษตรกรแล้ว การผลักดันในเรื่องการประกันภัยพืชผล ย่อมถือเป็นการป้องกันปัญหาที่ต้นทาง เพราะหากเกิดปัญหาภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติจนผลผลิตเสียหาย เกษตรกรก็จะมีเงินชดเชยเพี่อนำไปเริ่มต้นในการผลิตใหม่ โดยไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนจนกลายเป็นหนี้ซับเป็นหนี้ซ้อนเหมือนเช่นที่ผ่านมา ในสภาวะที่ภูมิอากาศโลกแปรปรวนสุดจะคาดเดา หากปล่อยให้เกษตรกรยืนอยู่บนความเสี่ยงเพียงลำพัง ท้ายสุดพวกเราต่างหากที่เดือดร้อน ๆ เพราะไม่มีข้าวจะกิน ไม่มีอาหารที่จะบริโภค... ถึงตอนนี้แม้การประกันภัยอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ถ้ายังไม่มีทางเลือกอื่นที่มาช่วยแก้ปัญหา..ยังไงก็ขอทำประกันเอาไว้ก่อนก็แล้วกัน

•พรพรหม จักรกริชรัตน์•

 


14 ตุลาคม 2553

Copy to clipboard

กลับสู่ด้านบน