ปรากฏเป็นข่าวสารทางสื่อสารมวลชนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีการให้กฤษฎีกาตีความมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 และ วันที่ 22 มิถุนายน 2553

ที่เสนอให้สถาบันการเงินของรัฐเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้กับสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ด้วยการพักชำระต้นเงินลงครึ่งหนึ่งพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน จากนั้นให้เกษตรกรผ่อนชำระต้นเงินที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งตามงวดและระยะเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 15 ปี ซึ่งหากเกษตรกรสามารถส่งชำระหนี้ ได้ครบถ้วนตามที่กำหนด เงินต้นและดอกเบี้ยที่พักไว้ก็จะยกเลิกให้ทั้งหมด โดยพาดพิงถึงการดำเนินงานในแง่มุมต่าง ๆ นานา ของ ธ.ก.ส. ผิดถูกอย่างไรผู้อ่านคงวิเคราะห์กันได้

ด้าน ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธ.ก.ส.ก็ออกมาชี้แจงอย่างใจเย็นว่า ไม่ได้ขัดนโยบายหรือไม่อยากทำ แต่ต้องการความรอบคอบ ชัดเจนเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจว่าทำไปแล้ว ไม่มีความผิดตามมาในภายหลังซึ่งอาจติดคุกเอาง่าย ๆ ทั้งนี้เพราะกฎกระทรวงการคลังฉบับที่ 186 ไม่ได้ถือว่า ธ.ก.ส.เป็นสถาบันการเงินทั่วไปที่สามารถตัดหนี้สูญได้โดยอัตโนมัติ แต่ถือเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีกฎหมายรองรับการจัดตั้งโดยเฉพาะ ซึ่งการตัดหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ กฎหมายดังกล่าวระบุให้ต้องดำเนินคดีและติดตามทวงถามกับลูกหนี้จนถึงที่สุดเสียก่อนจึงจะดำเนินการตัดหนี้สูญได้ ดังนั้นในกรณีที่ลูกหนี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงไม่สามารถตัดหนี้สูญได้ทันทีตามมติ ค.ร.ม. ด้วยเหตุนี้ ธ.ก.ส.จึงต้องส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความให้ชัดเจนก่อนว่า จริง ๆ แล้วสามารถทำได้หรือไม่ เพราะขืนทำไปสุ่มสี่สุ่มห้าผิดขั้นผิดตอน อาจเกิดปัญหาตามมา ในเรื่องนี้ทราบมาว่า ธ.ก.ส.ก็ได้ปรึกษากับต้นสังกัดคือกระทรวงการคลังมาโดยตลอด และกระทรวงการคลังก็เห็นชอบให้มีการตรวจสอบเพิ่มเติม

หากตีความออกมาว่าทำได้คุณลักษณ์บอกว่าพร้อมดำเนินการทันที แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องให้กระทรวงการคลังไปปลดล็อคเสียก่อน ฟังอย่างนี้ก็รู้สึกเห็นใจผู้ปฏิบัติงาน เพราะที่ผ่านมามักเกิดรายการแก้ไขโครงการต่าง ๆ หลังเปลี่ยนรัฐบาลอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามระหว่างที่รอตีความ คุณลักษณ์บอกว่าจะดำเนินการในส่วนของลูกหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไปก่อน ซึ่งก็มีประมาณ 20% ของลูกหนี้ กฟก.ที่มีหนี้อยู่กับ ธ.ก.ส. ประมาณ 52,000 ราย พร้อม ๆ กับการเข้าไปดูแลลูกหนี้เอ็นพีแอลของ ธ.ก.ส.ด้วยเพื่อความเสมอภาค โดยใช้หลักการเดียวกันคือนำต้นเงินคงเป็นหนี้ร้อยละ 50 มาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วแบ่งกลุ่มตามความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อที่จะดูแลและแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด เช่น กลุ่มที่ 1 มีรายได้สุทธิก่อนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มากกว่าร้อยละ 50 หรือมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้คืน ขยายระยะเวลาชำระหนี้ภายใน 5 ปี คิดดอกเบี้ยเพียง 3% กลุ่มที่ 2 มีรายได้ร้อยละ 30-50 ขยายเวลาชำระหนี้ภายใน 10 ปี คิดดอกเบี้ย 3.25 % กลุ่มที่ 3 มีรายได้ ร้อยละ 10-30 ขยายเวลาชำระหนี้ภายใน 15 ปี คิดดอกเบี้ย 3.50 % และกลุ่มที่ 4 มีรายได้ร้อยละ 10 หรือไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ จะนำหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันมาประเมินเพื่อหักหนี้ตามกฎหมาย ที่เหลือจะพิจารณาตัดเป็นหนี้สูญ เพื่อปลดล็อคภาระหนี้ทั้งหมด ทั้งนี้ลูกหนี้ในกลุ่มสุดท้ายสามารถที่จะขอเช่าที่ทำกินในที่ดินเดิมของตนเองหรือหากมีรายได้ก็สามารถมาซื้อคืนได้ภายใน 5 ปี เห็นเงื่อนไขอย่างนี้ลูกหนีเอ็นพีแอลของ ธ.ก.ส.คงใจชื้น

•พรพรหม จักรกริชรัตน์•

 


14 ตุลาคม 2553

Copy to clipboard

กลับสู่ด้านบน