สายฝนที่เริ่มโปรายปรายลงมาในช่วงนี้ สื่อสะท้อนถึงการเริ่มฤดูการเพาะปลูกข้าวของชาวนาในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

หลังจากที่เฝ้ารอฟ้ามาด้วยใจตุ๋ม ๆ ต้อม ๆ เพราะฝนเล่นทิ้งช่วงจนน้ำในแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึงรวมถึงในเขื่อนแห้งขอดเข้าขั้นวิกฤต ปัญหาภัยแล้งนี้ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เสียหายไปเฉียด ๆ แสนไร่ โชคดีที่เกษตรกรบางส่วนเข้าร่วมโครงการประกันภัยพืชผลประเภทภัยแล้งที่ ธ.ก.ส.ร่วมกับบริษัทประกันภัยหลายแห่งจัดทำขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรจำนวน 863 ราย ที่ทำประกันรวมพื้นที่ 16,614 ไร่ จ่ายค่าประกันไปไร่ละ 100 บาท รวมแล้วประมาณ 1,661,400 บาท ได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายคราวนี้กว่า 4.3 ล้านบาท เห็นข่าวนี้แล้วค่อยรู้สึกเบาใจว่าอย่างน้อยเกษตรกร คงมีเงินทุนสำหรับไปเริ่มเพาะปลูกกันใหม่ โดยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพิ่มเติมให้เป็นภาระหนักอีก พร้อมคาดหวังว่าปีต่อ ๆ ไปชาวบ้านคงสนใจทำประกันภัยแบบนี้กันมากขึ้น

พูดถึงเรื่องประกัน ทำให้นึกถึงโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลที่ใช้กับ 3 พืชหลัก คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ซึ่งใช้สูตรคำนวณจากต้นทุนการผลิต + ค่าขนส่ง + กำไรหรือผลตอบแทนอีกร้อยละ 25 มาเป็นเกณฑ์กำหนดราคาประกัน หรือเกณฑ์การันตีรายได้ขั้นต่ำที่เกษตรกรควรได้รับ โดยในฤดูการผลิตปี 52/53 ซึ่งถือเป็นปีแรกของโครงการ ได้จ่ายชดเชยเงินส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับเกณฑ์กลางอ้างอิงที่กำหนดในแต่ละช่วงให้เกษตรกรรวม 3 พืชไปแล้วกว่า 54,000 ล้านบาท

ตัวเลขการใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตพืชหลักของประเทศ อาจจะดูมาก...แต่เมื่อเทียบกับปริมาณคนที่ได้รับประโยชน์ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกว่า 4.2 ล้านครัวเรือน อีกทั้งเป็นอาชีพหลักที่ควรได้รับการคุ้มครองแล้ว ต้องถือว่าไม่มากและจะดียิ่งขึ้น... ถ้ารัฐผนวกค่าใช้จ่ายในการทำประกันภัยพืชผลให้กับเกษตรกรไปด้วย เพราะนอกจากเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการประกันด้วยเหตุผล....จ่ายเงินเพียงเล็กน้อยแต่เมื่อเกิดภัยธรรมชาติที่ไม่คาดคิด ก็จะได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายสำหรับการไปเริ่มต้นเพาะปลูกใหม่ได้ทันที ถือเป็นการลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร ช่วยประหยัดงบประมาณรัฐบาลกรณีเกิดปัญหาภัยธรรมชาติจริง ๆ โดยเงินที่ได้รับจากการประกันภัยถึงมือเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ถ้าจะรั่วจะกระเด็นไปตรงไหนก็สามารถตรวจสอบได้ง่าย ที่สำคัญปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งเป็นปัญหาหลักของเกษตรกร ก็มักเกิดจากจุดนี้ ดังนั้นถ้าแก้ที่ต้นเหตุปัญหาที่หนัก ๆ อาจเบาบางลงได้

ตอนนี้แว่ว ๆ ข่าวดีมาว่ารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบูรณาการแผนทั้งในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวมาหลายปีกับยุทธศาสตร์ในด้านดังกล่าวของกระทรวงการคลัง เพื่อหาข้อยุติในการจัดทำรูปแบบการประกันภัยที่เหมาะสมหรืออาจเป็นกองทุนประกันภัย ...ยังไงก็ขอเอาใจช่วยให้นโยบายดังกล่าวมีผลในเชิงปฏิบัติได้จริง ๆ เพราะปัญหาภัยธรรมชาติในเวลานี้มาเร็ว.. มาแรง จนยากจะรับมือกันแล้ว

•พรพรหม จักรกริชรัตน์•

 


14 ตุลาคม 2553

Copy to clipboard

กลับสู่ด้านบน