เสาร์นี้รับเชิญทีมงานพี.อาร์. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือทีมงานประชาสัมพันธ์ของ ธ.ก.ส. ข้ามโขงไปดูงานแสดงสินค้าไทยที่นครเวียงจันทน์ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

งานนี้กระทรวงพาณิชย์เป็นหัวเรือใหญ่ จัดงานมหกรรม “THAILAND EXHIBITION 2006” ที่อาคารแสดงสินค้า LAO – TIECC ใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ มาตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา และจะมีต่อไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 2 ก.ค. นี้

หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐไปเกี่ยวข้องอะไรด้วย อยู่ๆก็ไปเปิดบูธแสดงสินค้า ทำตัวราวกับเป็นเจ้าของโรงงาน นำผลิตภัณฑ์ออกเร่ขายไปทั่ว

ธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ปฏิเสธแข็งขัน ธ.ก.ส. ไม่ใช่โรงงาน ยังเป็นธนาคารที่ให้กู้เงินและรับฝากเงินเหมือนเดิม แต่ ธ.ก.ส. มีสินค้าเยอะ เพราะเงินกู้จาก ธ.ก.ส. เกษตรกรเอาไปลงทุนผลิตสินค้าเกษตร ทั้งที่เป็นสินค้าเกษตรเพียวๆและสินค้าเกษตรแปรรูป รวมไปถึงสินค้านอกภาคเกษตรด้วย

ธ.ก.ส. ในฐานะที่ประกาศตัว “เป็นธนาคารที่ให้มากกว่าสินเชื่อ” ซึ่งความหมายก็คือ จะต้องดูแลสารทุกข์สุกดิบในด้านอื่นๆให้แก่เกษตรกรผู้กู้ด้วย ดังนั้น ในด้าน “การตลาด” ซึ่งถือเป็น “ความทุกข์” ที่เกาะกินเกษตรกรผู้กู้มาช้านาน เพราะส่วนใหญ่ “เก่งผลิต” แต่ “ไม่เก่งขาย” ธ.ก.ส. จึงต้องเข้าไปดูแลให้เป็นกรณีพิเศษเหนือกว่ากรณีอื่นๆ

“อย่างเช่นที่ประเทศลาวนี้ ความจริงราษฎรทั้งสองฝั่งทำมาค้าขายตามตะเข็บชายแดนอยู่แล้ว ธ.ก.ส. เพียงแค่ไปจัดระบบให้ลงตัว ทุกอย่างก็น่าจะลงเอยด้วยดี”

ระบบที่ผู้จัดการ ธ.ก.ส. พูดถึงก็คือ การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจที่เกษตรกรลูกค้ามีอยู่แล้วให้ต่อท่อถึงกัน โดยเป้าหมายหลักอยู่ที่ว่า เมื่อพ่อค้านักธุรกิจในประเทศลาวต้องการสินค้าประเภทใด ถ้าเกษตรกรไทยมีสินค้าประเภทนั้นๆ ทำอย่างไรจึงจะเกิดการค้าขายกันได้อย่างมีระบบ

“ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะขณะนี้เกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส. มีองค์กรทางด้านธุรกิจของตัวเองอยู่แล้ว คือ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. หรือ สกต. ซึ่งมีอยู่ 74 แห่งครอบคลุมการทำธุรกิจทั่วประเทศ ถ้าพ่อค้าลาวต้องการสินค้าประเภทผลไม้ สกต.ที่อยู่ในแหล่งผลไม้ เช่นที่ ระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี ยะลา นราธิวาส ก็จะรวบรวมผลผลิตผลไม้ส่งให้ สกต. หนองคาย เป็นศูนย์กระจายสินค้าเข้าไปฝั่งลาว ทำนองเดียวกัน ประเทศลาวไม่มีดินแดนติดชายฝั่งทะเล เพราะฉะนั้น อาหารทะเลไม่ว่าจะสดหรือแปรรูปยังเป็นที่ต้องการอยู่ตลอดเวลา สกต.ที่อยู่ในแหล่งผลิตอาหารทะเล ก็พร้อมที่จะรวบรวมอาหารทะเลเหล่านั้น ส่งให้ สกต. หนองคาย รับไปบริหารจัดการและเชื่อมต่อไปยังผู้บริโภคฝั่งลาว ผ่านพ่อค้านักธุรกิจที่เจรจาทางการค้าไว้แล้วในงานแสดงสินค้าไทยครั้งนี้”

ธีรพงษ์ คาดการณ์ กว่าจะสิ้นปีบัญชีของ ธ.ก.ส. ในวันที่ 31 มี.ค. ปีหน้าปริมาณสินค้าที่ต่อท่อธุรกิจผ่าน สกต. ซึ่งเป็นองค์กรของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. เชื่อมโยงข้ามฝั่งไปยังประเทศลาว จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท!

นับเป็นธุรกิจข้ามชาติเพื่อขจัดความทุกข์ยากในด้านการตลาดให้แก่เกษตรกร โดยการบริหารจัดการของ ธ.ก.ส. ที่พร้อมจะขยายผลไปยังตะเข็บชายแดนด้านอื่นๆ

ไม่ว่าจะเป็นเขมร พม่า มาเลเซีย ทะลุเลยเข้าไปในเวียดนาม จีนแผ่นดินใหญ่และอินโดนีเซีย ในโอกาสอันใกล้นี้!

- ยุทธกร ไชยหิรัญการ


13 กรกฏาคม 2549

Copy to clipboard

กลับสู่ด้านบน