ธ.ก.ส. ออกมาตรการช่วยเกษตรกรผู้ปลูกลำไย หนุนสินเชื่อ 3,000 ล้านบาท

เสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวม รับซื้อ แปรรูป และจัดการด้านการตลาด พร้อมกระจายลำไยสด 1,500 ตัน สู่ผู้บริโภค เพื่อแก้ไขปัญหาราคาลำไยตกต่ำ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2556 ณ สำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนคาราวานขนส่งลำไยสดไปสู่ผู้บริโภค ทั่วทุกภาคของประเทศ ในงาน ?คาราวานลำไย สดจากไร่ ไปถึงบ้าน? ซี่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ ธ.ก.ส. ในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานลำไย (Value Chain) เช่น การสนับสนุนและสร้างโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาความรู้ด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด ให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร รวมทั้งการกระจายผลผลิตลำไยสดออกนอกพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาลำไยตกต่ำ นายทนุศักดิ์ กล่าวว่าในช่วงนี้มีผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผลผลิตลำไยที่อยู่ในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออก ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง ตาก และจันทบุรี ซึ่งมีพื้นที่การผลิตรวมประมาณ 1 ล้านไร่ ปริมาณผลผลิตลำไยสดกว่า 9 แสนตัน ส่งผลให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาต่ำไม่คุ้มกับการลงทุน ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยให้สามารถขายผลผลิตได้ ในราคาสูงขึ้น ธ.ก.ส. จึงได้จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างมูลค่าตามห่วงโซ่อุปทานลำไยปี 2556 โดยสนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับลำไยใน 8 จังหวัดภาคเหนือและจันทบุรี ในวงเงิน 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวม รับซื้อ แปรรูปและจัดการด้านการตลาดลำไย โดยแบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อแปรรูปลำไยอบแห้งทั้งเปลือกและลำไยอบแห้งสีทอง ของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) จำนวน 1,865 ล้านบาท และสินเชื่อที่ ธ.ก.ส. สนับสนุนให้เกษตรกรโดยตรง จำนวน 1,135 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย MRR สำหรับเกษตรกรและบุคคลทั่วไป และอัตรา MLR สำหรับผู้กู้ที่เป็นนิติบุคคล ระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม ถึง 31 ตุลาคม 2556 นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินมาตรการการกระจายลำไยสดสู่ผู้บริโภค ผ่านขบวนการสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) โดยกำหนดให้มีจุดรวบรวมลำไยสดคุณภาพดีในแต่ละจังหวัด เพื่อขนส่งไปยังจุดกระจายสินค้าที่กำหนดไว้ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งการบริหารจัดการด้าน Logistic ที่ดีและรวดเร็วนี้ จะช่วยให้การกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภครวดเร็วในขณะที่สินค้ายังสดใหม่และมีคุณภาพดี พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนวงเงินงบประมาณจำนวน 15 ล้านบาท เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดงานมหกรรมส่งเสริมลำไยภาคเหนือ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด จังหวัด สหกรณ์ บริษัทเอกชน การคัดคุณภาพผลผลิต การส่งเสริมการขาย การจัดทำแพ็คเกจ การส่งเสริมความรู้ด้านการบริหารจัดการแก่เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาราคาลำไยตกต่ำและกระจายลำไยสดไปสู่ผู้บริโภคได้ประมาณ 1,500 ตัน โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 3,000 ราย ในปีที่ผ่านมา ผลผลิตลำไยใช้บริโภคสดภายในประเทศประมาณ 50,000 ตัน ส่งออกลำไยสดไปยังประเทศจีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง ประมาณ 450,000 ตัน แปรรูปเป็นลำไยอบแห้งเพื่อส่งออกไปประเทศจีน เวียดนาม พม่า ประมาณ 130,000 ตัน และลำไยบรรจุกระป๋องส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฮ่องกงอีกประมาณ 11,500 ตันสด โดยในปี 56 ที่ประชุม คชก. ได้เห็นชอบมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาลำไย ประกอบด้วย มาตรการกระจายลำไยออกนอกแหล่งผลิต โดยสนับสนุนค่าขนส่งและค่าการตลาดเหมาจ่าย 2.50 บาท/กก. มาตรการส่งเสริมการแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือกและลำไยอบแห้งสีทอง โดยชดเชยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ร้อยละ 3 ต่อปี และมาตรการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภคลำไยทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะรองรับปริมาณผลผลิตลำไยได้ประมาณ 130,000 ตัน


Copy to clipboard

กลับสู่ด้านบน